สรุปหนังสือ 3 เล่ม

อาหารไทยมีมากมายหลายชนิด มีการผสมผสานเครื่องปรุง และเครื่องเทศต่างๆ ของเอเชียเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนในการเพิ่มรสชาติของอาหาร มีการใช้ทั้งน้ำผลไม้ เช่น น้ำมะนาว น้ำมะขาม และอื่นๆ เช่น น้ำปลา น้ำตาลปีบ กะปิ น้ำมันหอย ช่วยทำให้อาหารมีความกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น ส่วนผสมของกะทิ ที่ปรุงร่วมกับเครื่องแกงต่างๆ ทำให้อาหารไทยมีความโดดเด่นในรสชาติ แตกต่างจากอาหารชาติอื่นๆ และนอกจากนั้น วัฒนธรรมการตกแต่งอาหาร ให้วิจิตรสวยงาม ด้วยศิลปะการแกะสลัก ผักและผลไม้ แสดงออกถึงความประณีต สิ่งต่อมาที่ขาดไม่ได้เลยคือ เครื่องเทศ ที่ใช้ในการประกอบอาหารไทย เป็นสมุนไพรล้วนๆ ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด กระชาย หอม กระเทียม ฯลฯ อาหารไทย จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นอาหาร "เพื่อสุขภาพ" อย่างแท้จริง อาหารในแต่ละภาคของบ้านเรานั้นก็จะมีความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป คนไทยแต่ละภาค รับประทานอาหารแตกต่างกัน ตามลักษณะพื้นที่ดินฟ้าอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ เช่น พวกที่อยู่ริมทะเล รับประทานอาหารแบบหนึ่ง พวกที่อยู่บริเวณที่มีอากาศหนาว หรืออากาศร้อนก็รับประทานอาหารอีกแบบหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่คนไทยยังรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยทุกภาค คือ การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อาหารตามภาคต่างๆ ของไทย
อาหารไทยภาคเหนือ
อาหารของภาคเหนือประกอบด้วยข้าวเหนียว น้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ประเภทแกงเช่น แกงฮังเล อาหารพื้นเมืองอื่นๆ เช่น แหนม ไส้อั่ว แคบหมู และผักต่างๆ นิยมรับประทานอาหารรสกลางๆ มีรสเค็มนำเล็กน้อย รสเปรี้ยวและหวานมีน้อยมาก นิยมทาน เนื้อหมู เพราะหาได้ง่ายราคาไม่แพง สำหรับอาหารทะเลนิยมน้อยเพราะราคาแพง เนื่องจากอยู่ห่างไกลทะเล
          อาหารไทยภาคกลาง
โดยทั่วไปคนภาคกลางรับประทานอาหารที่มีรสกลมกล่อม มีรสหวานนำเล็กน้อย วิธีการปรุงอาหารซับซ้อน ด้วยการนำมาเสริมแต่ง หรือประดิดประดอยให้สวยงาม เช่น น้ำพริกลงเรือ ซึ่งดัดแปลงมาจากน้ำพริกกะปิ จัดให้สวยงามด้วยผักแกะสลักเป็นต้น ลักษณะอาหารที่รับประทาน มักผสมผสานกันระหว่างภาคต่างๆ เช่น แกงไตปลา ปลาร้า น้ำพริกอ่อง เป็นต้น ทุกบ้านจะรับประทานข้าวสวยเป็นหลักอาหารเย็น มีกับข้าว 3-5 อย่าง ได้แก่ ต้มจืด แกงส้มหรือแกงเผ็ด เช่น พะแนง มัสมั่นแห้ง อาหารประเภทผัด เช่นไก่ผัดพริก ประเภทยำ เช่น ยำถั่วพู ยำเนื้อย่าง อาหารประจำของคนไทยภาคกลางคือ ผัก น้ำพริก และปลาทู อาจจะมีไข่เจียว เนื้อทอด หรือหมูย่างอีกจานหนึ่งก็ได้ โดยคำนึงถึงวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นหลัก
          อาหารไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีข้าวเหนียวนึ่งเป็นหลักเช่นเดียวกับภาคเหนือ รับประทานกับลาบไก่ หมู เนื้อ หรือ ลาบเลือด ส้มตำ ปลาย่าง ไก่ย่าง จิ้มแจ่ว ปลาร้า อาหารภาคนี้จะนิยมปิ้ง หรือย่างมากกว่าทอด อาหารทุกชนิดต้องปรุงรสจัด เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหาร ได้แก่ สัตว์ที่ชาวบ้านหามาได้ เช่น กบ เขียด แย้ งู หนูนา มดแดง แมลงบางชนิด ส่วนเนื้อหมู วัว ไก่ และเนื้อสัตว์อื่น ๆ ก็นิยมตามความชอบ
          อาหารไทยภาคใต้
อาหารของภาคใต้จะมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่นๆ แกงที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ คือ แกงไตปลา แกงเหลือง เครื่องจิ้มก็คือ น้ำบูดู และชาวใต้ยังนิยมนำน้ำบูดูมาคลุกข้าวเรียกว่า "ข้าวยำ" มีรสเค็มนำและมีผักสดหลายชนิดประกอบ อาหารทะเลสดของภาคใต้มีมากมาย ฝักสะตอนั้นขาดไม่ได้สำหรับอาหารภาคใต้ ทาใช้ทั้งเม็ดที่อยู่ด้านในของฝัก นำมาหั่น ปรุงอาหารโดยใช้ผัดกับเนื้อสัตว์หรือใส่ในแกง นอกจากนี้ยังใช้ต้มกะทิรวมกับผักอื่นๆ หรือใช้เผาทั้งเปลือกให้สุกแล้วแกะเม็ดออกรับประทานกับน้ำพริกหรือจะใช้สดๆ โดยไม่ต้องเผาก็ได้ ถ้าต้องการเก็บไว้นานๆ ควรดองเก็บไว้ หรือแช่แข็งก็ได้

ทั้งหมดเหล่านี้จึงทำให้เป็นที่มาของ "อาหารไทย" ที่มีความหลากหลายของเมนูอาหารที่แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค จะมีสูตรการทำอาหารและรสชาติที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ภาคใต้จะเป็นอาหารประเภทแกงและอาหารทะเลเป็นส่วนมาก ภาคเหนือจะเป็นอาหารสุขภาพและสมุนไพร ภาคอีสานจะมีอาหารคล้ายกับทางภาคเหนือ แต่รสชาติไปทางเผ็ดร้อนและภาคกลางจะเป็นอาหารตามหลักทั่วไป








สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์
ประวัติส่วนตัว โดย Jakapong Luasoongnoen อนุญาตให้ใช้ได้ตาม สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 International.
อยู่บนพื้นฐานของงานที่ 5500836com226.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น